รัฐบาล ลุยแพ็คเกจ EEC ยกเว้นภาษียาว 15 ปี ดึงลงทุน

14 สิงหาคม 2567
รัฐบาล ลุยแพ็คเกจ EEC ยกเว้นภาษียาว 15 ปี ดึงลงทุน

รองนายกฯ “ภูมิธรรม เวชยชัย” เดินหน้าผลักดันประกาศ กพอ. ให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการใน EEC ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี พร้อมสิทธิพิเศษมากมาย รับต่างชาติสนใจลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.7 แสนล้าน

รัฐบาลไทยเดินหน้าผลักดันการลงทุนในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมออกมาตรการสิทธิประโยชน์ใหม่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท

“ภูมิธรรม” เชื่อต่างชาติยังสนใจลงทุน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังคงทำงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และในฐานะของประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งดูแลโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยืนยันว่า รัฐบาลยังเห็นสัญญาณว่า มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในโครงการอีอีซี

ทั้งนี้ในเร็ว ๆ นี้ จะนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ร่างประกาศ กพอ. เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... หรือ EEC Track เพื่อดึงดูดเอกชนเข้ามาลงทุนภายใต้กฎหมายของ EEC ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับการพิจารณาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการอีอีซีด้วย

ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า หากครม.เห็นชอบสิทธิประโยชน์ของ EEC แล้ว เชื่อว่า 2-3 สัปดาห์จะเริ่มมีนักลงทุนเข้ามาขอให้สิทธิประโยชน์แน่นอน เพราะขณะนี้นักลงทุนหลายรายแสดงความสนใจเข้ามาแล้วหลายราย และจะเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ EEC มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการชักชวนนักลงทุนใน EEC นั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 12 กรกฎาคม 2567 พบว่า สำนักงาน EEC ได้ชักชวนนักลงทุนภาพรวม 109 ราย เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ประเภท คือ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ คิดเป็น 45 โครงการ รวมมูลค่าโครงการรวม 276,469 ล้านบาท

ทั้งนี้หากพิจารณาในรายละเอียดของโครงการทั้งหมดนั้น พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG เป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต้องการลงทุนสูงที่สุด มีมูลค่าสูงถึง 152,300 ล้านบาท รวม 15 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 9 ราย รวม 12 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 ราย รวม 3 โครงการ

ส่วนอุตสาหกรรมบริการ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 59,582 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 11 ราย รวม 11 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 2 ราย รวม 2 โครงการ

ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัล พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 46,739 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 5 ราย รวม 5 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 ราย รวม 3 โครงการ

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 17,515 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 6 ราย รวม 6 โครงการ

ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 333 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 3 ราย รวม 3 โครงการ

ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 4.5 แสนล้าน

ส่วนข้อมูลคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนนั้น ล่าสุดนายนฤตม์เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 (มกราคม -มิถุนายน 2567) การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน

โดยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35%

ทั้งนี้สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาล รวมทั้งผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐ

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 139,725 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 39,883 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 33,121 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 25,344 ล้านบาท และดิจิทัล มูลค่า 25,112 ล้านบาท

เปิดรายละเอียดสิทธิประโยชน์ใหม่

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยรายละเอียดสิทธิประโยชน์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) โดยมีจุดเด่นที่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 15 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ มีดังนี้

1.สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร ประกอบด้วย ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา: 1-15 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ ระยะเวลา 01-10 ปี (กรณีไม่ได้รับการยกเว้น) หรือ 1-5 ปี (หลังจากได้รับการยกเว้นไม่เกิน 8 ปี) สามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรสุทธิระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีหลังจากพ้นช่วงยกเว้นภาษี นำค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา หักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ 2 เท่า เงินลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกหักได้ 1-25%

ขณะเดียวกันยังให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร, อุปกรณ์วิจัยและพัฒนา, วัตถุดิบสำหรับการส่งออก ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบไม่เกิน 90% ของอัตราปกติ ยกเว้นอากรขาออกสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเขต EEC

2. สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ด้านภาษี กำหนดให้การถือครองที่ดินและห้องชุดสามารถถือกรรมสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตพิเศษ อนุญาตให้นำเข้าผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และครอบครัวได้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานสำหรับตำแหน่งที่กำหนด การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และการใช้เงินตราต่างประเทศชำระค่าสินค้าหรือบริการได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย

ลงทุนจริงน้อย เอกชนหวั่นนโยบาย-ที่ดินไม่พอ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่า ตัวเลขการลงทุนในขณะนี้ แม้ว่าจะมีตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ตัวเลขการลงทุนจริงเกิดขึ้นน้อย นั่นคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะกรณีความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมากะทันหัน อาจส่งผลให้การดำเนินนโยบายไม่ต่อเนื่อง

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่ง คือการเตรียมความพร้อมของสถานที่ในการรองรับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติหลายรายสนใจเข้ามาติดต่อหาช่องทางลงทุนในประเทศไทย แต่ทางหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถจัดหาพื้นที่ โดยเฉพาะที่ดินสำหรับตั้งโรงงาน หรือตั้งกิจการให้กับนักลงทุนได้ เนื่องจากติดปัญหาที่ดินส่วนใหญ่มีราคาสูง และมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ตัวเลขการลงทุนจริงเกิดขึ้นช้ามาก ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาทางออกเรื่องนี้โดยเร่งด่วน

 

 

 

 


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.